ธรรมะของหลวงพ่อสุทัศน์ โกสโล วัดกระโจมทอง


ที่มา : คมชัดลึก :

วัดกระโจมทอง ตั้งอยู่ริมคลองวัดกระโจม ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๙๑๐ ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ร่วมสมัยกับวัดปรางค์หลวง มีตำนานกล่าวว่า เดิมเคยเป็นที่ตั้งกระโจมที่ประทับของพระเจ้าอู่ทอง แม้จะตั้งอยู่ใจกลางเมือง พลุกพล่านไปด้วยรถที่สัญจรไปมา แต่วัดแห่งนี้มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ทั่วบริเวณ ซึ่งอาจจะเรียกว่า “เป็นวัดป่าใจกลางเมือง เหมาะสำหรับการฝึกปฏิบัติธรรม”

ที่สำคัญคือ วัดแห่งนี้มี พระอาจารย์สุทัศน์ โกสโล พระป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น เป็นเจ้าอาวาส
หลวงพ่อสุทัศน์ ไม่มีฐานะสมณศักดิ์ใดๆ ท่านเป็นพระธรรมดารูปหนึ่งเท่านั้น แม้จะมีผู้รู้จักมักคุ้นกับพระเถรผู้ใหญ่หลายรูป แต่ท่านไม่เคยร้องขอสมณศักดิ์ใดๆ กับใครเลยทั้งสิ้น ด้วยใจยึดมั่นในหลักธรรมวินัย และการเผยแผ่ธรรมให้ศาสนิกชนได้พ้นจากห้วงแห่งความทุกข์อย่างเดียว


มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านไปรับกิจนิมนต์ให้ไปเทศนาภายในบริเวณวัดพระแก้ว โดยได้เทศนาเรื่อง อานิสงส์แห่งการถวายทานและภาวนา โยมคนหนึ่งได้ฟังธรรมและเกิดความปีติ จึงตามท่านมาที่วัด และจะถวายรถเบนซ์เพื่อให้ท่านได้ใช้ในกิจของสงฆ์

แต่หลวงพ่อได้แสดงธรรมเพื่อให้เป็นคติสอนใจว่า “ควรถวายของที่เหมาะแก่สมณสารรูปแห่งเพศบรรพชิต” โดยท่านได้ปฏิเสธที่จะรับรถเบนซ์คันดังกล่าว

หลวงพ่อสุทัศน์ ฉันอาหารมังสวิรัติ ในบางคราวที่ท่านรับนิมนต์ หากอยากโยมทราบก็จะจัดเตรียมอาหารไว้ หากญาติโยมไม่ทราบ หรือต้องเดินทางไกลๆ ท่านจะมีเครื่องกระป๋องเตรียมเอาไว้ ซึ่งเป็นผักทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ท่านได้ให้เหตุผลถึงเรื่องการฉันมังสวิรัติว่า “พระจะเคร่งพระธรรมวินัย ไม่ใช่อยู่ที่ฉันเจ หรือไม่เจ”
ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งคือ การเป็นเจ้าอาวาส เมื่อคนมาวัดก็ต้องมาหาเจ้าอาวาส เอากับข้าวอร่อยๆ มาถวายเราแต่ผู้เดียว แม้จะฉันรวมกันก็ตาม แต่อาหารนั้นไม่ทั่วถึงหมู่สงฆ์ เมื่อฉันมังสวิรัติแล้ว อาหารที่ญาติโยมมาถวายก็สามารถเผื่อแผ่ไปยังสงฆ์รูปอื่นๆ

จากคติความเชื่ออย่างหนึ่งที่ว่า “การทำบุญถวายทานกับพระอริยบุคคลนั้น จะได้อานิสงส์ได้บุญมากกว่าการทำบุญกับพระทั่วๆ ไป”

ทั้งนี้ หลวงพ่อสุทัศน์ได้ให้คติธรรมว่า “เรามิอาจรู้ได้ว่าพระรูปไหนเป็นพระอริยะหรือไม่ เพราะพระอริยะเจ้าไม่บอก ไม่แสดงตนว่าเป็นพระอริยะแล้ว ยกเว้นแต่อริยะปลอมเท่านั้น ธรรมที่ปรากฏนั้น ย่อมปรากฏที่ใจ มิใช่ที่อื่น...การภาวนาเป็นการละลดอุปทาน”

ส่วนคติความเชื่อที่พุทธสาสนิกชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่ว่า “พระป่าเคร่งกว่าพระบ้าน พระบวชอยู่ในเมือง” นั้น หลวงพ่อสุทัศน์ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าคิดว่า

“จากประสบการณ์ที่ผ่านมานั้น พระป่าซึ่งหมายถึงพระที่อยู่ในป่า ใช่ว่าจะเป็นพระที่เคร่งในศีลยึดมั่นธรรมเสมอไป ไม่ พระป่าจำนวนไม่น้อยทุศีลก็มากมี ผิดพระธรรมวินัยก็มีอยู่ไม่น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้กรรมก็จะสนองเอง ระหว่าธุดงค์เคยเห็นศพพระป่าดิบในทั่วไป เพราะขาดศีลผิดวินัยนั่นเอง”

ในฐานะที่เป็น พระป่ากรรมฐานสายหลวงปู่มั่น หลวงพ่อสุทัศน์ได้พูดถึงประโยชน์ของการฝึกสมาธิภาวนา หรือกรรมฐานว่า สามารถลดหรือล้างความเครียดได้ เมื่อมีการฝึกอบรมกรรมฐานอย่างต่อเนื่องจนสามารถปฏิบัติได้ในอิริยาบถเดิมๆ โดยไม่ได้ขยับเลย เป็นเวลาอย่างน้อย ๓ ชั่วโมง ก็สามารถจะดับความเครียดได้ เพราะเมื่อมีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จิตรวมตัวกันเป็นสมาธิ ตัดเรื่องภายนอกออกได้หมดแล้ว การทำงานของระบบประสาทก็จะดีขึ้น มีสติสัมปชัญญะที่ชัดขึ้น ความเครียดก็จะลดน้อยลงโดยปริยาย ด้วยเหตุนี้สมาธิภาวนาจึงสามารถลดความกดดันและความทุกข์ได้

ในกรณีของการปฏิบัติสมาธิภาวนาแล้ว เห็นนรกสวรรค์นั้น หลวงพ่อสุทัศน์บอกว่า การเห็นนรกสวรรค์ในสมาธินั้นเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็นไม่จริง การที่มองเห็นนรกสวรรค์ในสมาธินั้น เป็นเพียงอุปทานขันธ์ หาใช่นรกสวรรค์อย่างที่บางคนมีความเข้าใจ

ส่วนในครั้งพุทธกาล หรือสมัยที่พระพุทธเจ้ามีพระชนม์ชีพอยู่นั้น พระมาลัยพระอรหันต์ท่านไปนรกสวรรค์ ท่านไปจริงๆ ไปทั้งตัว ไม่ใช่แต่จิต เวลานั่งสมาธิอย่างที่เข้าใจกัน

หลวงพ่อสุทัศน์ ยังบอกด้วยว่า ระหว่างออกธุดงค์ คำถามหนึ่งที่ญาติโยมมักถามบ่อยๆ คือ
“ท่านมาธุดงค์อย่างนี้น่าจะมีของดีมาแจกไว้สำหรับป้องกันด้วยหรือไม่”
หลวงพ่อสุทัศน์ตอบไปว่า “ถ้าไปแจกวัตถุเครื่องรางของขลัง อาตมาพกพามาได้อย่างมากน่าจะไม่เกิน ๓,๐๐๐ องค์ อาตมาไม่มีกำลังมากพอที่จะพกพามากกว่านี้ และถ้าพกพามาได้ก็ไม่สามารถที่จะแจกได้ทั่วครบทุกคน อาตมาจึงบอกว่า อาตมาพกพาธรรมะของพระพุทธองค์มาเต็มย่าม ตั้งใจว่าจะแจกให้ครบทุกคน เพราะธรรมะจะแจกเท่าไรก็ไม่หมด และก็ไม่เป็นภาระที่จะแบกไปแจกให้ครบทุกคน ธรรมะมีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษ แต่วัตถุมงคลมีทั้งคุณมีทั้งโทษ ใช้ในทางที่ถูกก็เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ใช้ในทางไม่ถูกก็จะกลายเป็นความหลงใหลในวัตถุ”

ชาติภูมิและแนวปฏิบัติ
หลวงพ่อสุทัศน์ โกสโล เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๖ มกราคม ๒๔๗๘ ปีกุน ที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายพรหม และนางพันธ์ อุปสมบทเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ โดยมี พระครูประภาสภูมิสถิตย์ (หนุ่ม) เจ้าอาวาสวัดคงคาสวัสดิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นพระอาจารย์สอนคาถาอาคม-กรรมฐานเป็นปฐม

มี พระอาจารย์บัญญัติ มุนินโท เป็นผู้ร่วมธรรมวิมุต ออกธุดงค์เดินป่าภาวนาธรรมอยู่ด้วยกันไปถึงพม่า อยู่กลางป่าเขาเป็นเวลากว่า ๒ ปี

พระอาจารย์องค์สำคัญที่ให้ความรู้ทางวิปัสสนา คือ พระอาจารย์แป้น ธัมมธโร อดีตเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จ.สุพรรณบุรี โดยพระอาจารย์แป้นเดินทางมาอบรมกรรมฐานให้พระเณรที่ในป่าช้าที่วัดท้าวโคตร ซึ่งปัจจุบันคือวัดชายนานั่นเอง

สำหรับแนวการฝึกปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อสุทัศน์ ท่านจะยึดหลักการฝึกในแนวของมหาสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสติ การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ ตามที่สิ่งนั้นๆ มันเป็นของมันเอง ประกอบด้วย
๑.กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากายให้รู้เห็นตามเป็นจริง

๒.เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

๓.จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงจิต ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

และ ๔.ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม ให้รู้เห็นตามเป็นจริงว่า เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา

เรื่อง - ภาพ... "ไตรเทพ ไกรงู"

ความคิดเห็น