การทำสมาธิและดำเนินจิตสู่วิปัสสนา (ภาคต้น)

การทำสมาธิ วิปัสสนา

การทำสมาธิและดำเนินจิตสู่วิปัสสนา (ภาคต้น)

การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นบันไดขั้นต้นที่ก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเมื่อจิตของผู้ปฏิบัติตั้งมั่นในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ จิตของผู้ปฏิบัติก็ย่อมมีกำลังและอยู่ในสภาพที่นุ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้

การทำสมาธิ โดยการกำหนดอิริยาบถทางกายทั้ง 4 ได้แก่ การยืน การเดินจงกรม การนั่ง ( พองยุบ,พุทโธ ฯลฯ) การนอน โดยใช้สติ-สัมปชัญญะ ตามดู รู้ทัน จิต ให้อยู่กับอิริยาบถที่ กาย ทำอยู่ในปัจจุบันนั้น เมื่อ จิต แวบออกไปจากอิริยาบถนั้น ก็ กำหนดรู้ ตามอารมณ์ ที่ จิตไปรับรู้ แล้ว กลับมาอยู่ที่อิริยาบถที่ กาย ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นต่อไป เมื่อทำเช่นนี้ได้เป็น สิบ, ร้อย, พัน, หมื่นๆ ครั้ง จิตจะเริ่มละจากอารมณ์ที่ไปเกาะยึดภายนอก กลับมารวมตัวกันทำให้มีกำลังและความละเอียดเพิ่มมากขึ้น เกิดเป็น สมาธิ

กำลังสมาธิที่ได้ เราสามารถเลือกดำเนินไปในแนวทาง สมถภาวนา คือ การทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น โดยใช้กรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ ซึ่งผู้ปฏิบัติอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนี่ง ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตนก็ย่อมได้ หรือ ดำเนินจิตเข้าสู่วิปัสสนาภาวนา โดยมีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เรียกสั้น ๆ ว่า มีแต่รูปกับนาม

สิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ "ขันธ์ ๕" (ที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น 5 อย่าง) ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "รูป - นาม" โดย รูป มี ๑ ส่วน นาม นั้นมี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ

ในที่นี้ เป็นแนวทางดำเนินจิตเข้าสู่วิปัสสนาภาวนา เมื่อเรากำหนดรู้ทันจิตที่แวบออกไปคิด (ไปยึดติด-ปรุงแต่ง) เรื่องอื่นใด(อารมณ์ใด) นั้น จิตก็เหมือนถูกปลุกให้ตื่นจากที่ไปยึดหรือปรุงแต่งความคิดนั้น เมื่อไม่ไปยึดไว้ เรื่องที่คิดหรืออารมณ์นั้นๆ ก็จะจางหายไปเอง คือ เมื่อ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ก็ดับไป ตามกฎไตรลักษณ์ นี่คือวิปัสสนาภาวนาอย่างง่าย นั้นคือ การตามดู-รู้อารมณ์ –ละอารมณ์ของตนเองก่อน เมื่อละอารมณ์นั้นแล้ว ก็กลับมาทำสมาธิต่อไปโดยใช้สติ-สัมปชัญญะ ตามดู รู้ทัน จิต ให้อยู่กับอิริยาบถที่ กาย ทำอยู่ในปัจจุบันนั้น และทุกครั้งที่ จิต แวบออกไปจากอิริยาบถนั้น ก็ กำหนดรู้ ตามอารมณ์ ที่ จิตไปรับรู้ แล้วละอารมณ์โดยเห็นตามจริงตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อละอารมณ์นั้นแล้ว ก็กลับมาทำสมาธิต่อไป ทำเช่นนี้ต่อเนื่องหมุนเวียนกันไป

จิตก็จะมีสมาธิและความละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับ สามารถกำหนดรู้อารมณ์นั้น ว่าเป็นนิวรณ์ธรรมใด (ความพอใจ , ฟุ้งซ่าน, …) เป็นอุปาทานใด (ธรรมารมณ์, ทิฐิ,…) เมื่อละอารมณ์นั้นแล้ว ก็กลับมาทำสมาธิต่อไป ทำเช่นนี้ต่อเนื่องหมุนเวียนกันไป เมื่อจิตได้รับการสอน รู้และละอารมณ์ จนสามารถแยกแยะอารมณ์ระหว่างจิตที่เป็นอิสระ กับ จิตที่เข้าไปยึดมั่นในรูป-นาม (จิตที่ทุรนทุราย เศร้าหมอง จิตที่ เป็นทุกข์) จะช่วยให้สามารถละวาง ด้วยความรู้ตามจริงตามหลักพระไตรลักษณ์ ได้ดีขึ้น

จิตที่มีกำลัง ว่องไว ชำนาญจะสามารถแยกแยะ รูป-นาม ที่ผัสสะผ่านทางอายตนะทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เห็นกระบวนการเกิดซึ่งอารมณ์เหล่านั้น การชักนำโดย โลภะ โทสะ โมหะ การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลายอันได้แก่ขันธ์ ๕ นั้นล้วนแต่มีอาการเป็น พระไตรลักษณ์คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เกิดนิพพิทาญาณ คือ ญาณเห็นด้วยปัญญาถึงความไร้สาระและเกิดความหน่ายต่อการปรุงแต่งทั้งหลาย (ไม่ใช่อารมณ์เบื่อ ไม่พอใจ ของคนขี้เกียจ เซ็ง)

การเจริญสมาธิและวิปัสสนาควบคู่ต่อเนื่องกันไปตามที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้น เป็นไปตามหลัก "สมาธิอบรมปัญญา" และ "ปัญญาอบรมสมาธิ"

เมื่อใดที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาจริง เรียกว่า จิตตกระแสธรรมตัดกิเลสได้ ปัญญาที่จะเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่จะนึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่เป็นการแจ้งในจิต ที่พระท่านเรียกว่า "ญาณทัสสนะ" เห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ

ซึ่งจิตที่ได้ผ่านการอบรมสมาธิมาจนมีกำลังดีแล้ว ย่อมมีพลังให้เกิดญาณทัสสนะหรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้ เรียกกันว่า "สมาธิอบรมปัญญา" คือสมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตก็ย่อมจะเบาและใสสะอาดบางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ สมาธิจิตก็จะยิ่งก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เรียกว่า "ปัญญาอบรมสมาธิ"

ทั้งสมาธิและวิปัสสนาจึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกันและอุปการะซึ่งกันและกันจะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม สมาธิจึงเปรียบเสมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้นเหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลายให้ขาดและพังลงได้

การดำเนินจิตเข้าสู่ วิปัสสนาภาวนา ในทางปฏิบัตินั้น คือ การนำสมาธิที่ได้จากการเจริญสติ-สัมปชัญญะ ดังกล่าวมาตามดู-รู้อารมณ์ ตนเอง กำหนดรู้ แล้วละวาง ด้วยความรู้ตามจริงตามหลักพระไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่มีสิ่งใดทนทานหรือตั้งอยู่ได้ มีความเสื่อมสลายและดับไปเป็นธรรมดา ทำให้เกิดความหน่าย (นิพพิทาญาณ) คลายความยึดมั่น ถือมั่นในอารมณ์นั้น หากกำลังสมาธิและวิปัสสนาญาณยังอ่อน ก็จะเห็นในรูป นิวรณ์ธรรม เราก็กำหนดรู้ แล้วละวางมาสู่อิริยาบถในปัจจุบัน เมื่อเรากำหนดรู้ทัน ว่าสิ่งที่เกิดเหล่านั้นเป็นอนิจจัง คือ ถ้าเราไม่ไปยึดหรือคิดฟุ้งซ่าน เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ก็ดับไปเอง การฝึกหัดเช่นนี้ทำให้เกิดความชำนาญในการรู้และละอารมณ์ เป็นญาณทัสสนะเบื้องต้นในการรู้ตามจริง

ข้อมูลจาก jaisabuy.com

ความคิดเห็น