การทำสมาธิแบบพระพุทธเจ้า |
สมาธิแบบพระพุทธเจ้า การกำหนดรู้เรื่องชีวิตประจำวัน...นี่เป็นเหตุเป็นปัจจัยสำคัญ..สำคัญยิ่งกว่าการนั่งสมาธิหลับตาสมาธิ คนเราทุกคนเกิดมาอาศัยสมาธิเป็นหลักใจ คนที่ทำอะไรด้วยความจริงใจ...เป็นลูกของพ่อของแม่ก็เป็นลูกด้วยความจริงใจ จะเป็นศิษย์ของครูบาอาจารย์ก็เป็นศิษย์ด้วยความจริงใจ จะเป็นอะไร ทำอะไร คิดอะไร เป็นไปด้วยความจริงใจ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสัจจะความจริงใจ...เมื่อมีสัจจะความจริงใจอย่างแน่วแน่ ชีวิตของเราทุกคนจึงเกี่ยวข้องกับสมาธิตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งวันตาย คนที่ไม่มีสมาธิย่อมมีนิสัยเหลาะแหละ ทำอะไรมีแต่จับจดไม่เอาจริงเอาจัง
สมาธิ...เป็นกิริยาของจิต เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรานั่งกำหนดรู้จิตของเรา เรียกว่า..ปฏิบัติสมาธิในท่านั่ง ถ้ากำหนดรู้จิตในท่ายืน เรียกว่า..ปฏิบัติสมาธิในท่ายืน เมื่อเรามีสติกำหนดรู้จิตในท่านอน เรียกว่า..ปฏิบัติสมาธิในท่านอน เวลาเดินจงกรม เรามีสติกำหนดรู้จิตของเรา เรียกว่า..ปฏิบัติสมาธิในท่าเดิน ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นแต่เพียงเปลี่ยนอิริยาบถบริหารกาย เพื่อมิให้ส่วนใดส่วนหนึ่งถูกทรมานเกินไป เพราะฉะนั้น สมาธิจึงมิใช่ เพียงการนั่งสมาธิอย่างเดียว...แม้แต่การยืน เดิน นั่งนอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ถ้าเรามีสติรู้ตัวตลอดเวลา เราก็ได้ปฏิบัติสมาธิตลอดเวลา
ถ้าหากเรายึดหลักว่า เราจะฝึกสติของเราให้รู้อยู่กับการยืน เดิน นั่ง นอน รับประทาน ดื่ม ทำ พูด คิด ทุกขณะจิตทุกลมหายใจ เราก็ได้ฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ มาขัดขวาง ... เมื่อเราเข้าใจกันอย่างนี้ การฝึกสมาธิจะไม่มีอุปสรรค เพราะเราจะปฏิบัติได้ทุกเวลา ทุกโอกาส
ผลที่เราจะได้จากการฝึกสมาธิ
ทำให้จิตของเราตั้งมั่น หรือมั่นคงต่อการทำธุรกิจต่างๆ ทำให้เรามีจิตที่สงบเยือกเย็น และมีเมตตาปรานีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน จะมีความเคารพบูชา รักในบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ดีขึ้น จะทำให้เราหมั่นขยันในการงาน ทำให้ความจำดีมีสติปัญญา เฉลียวฉลาดรอบรู้ คิดการงานใดจะไม่ท้อถอย โดยเฉพาะ สมาธิจะเสริมกำลังปัญญาของเราให้ปราดเปรื่อง
กฎหรือระเบียบ
ที่จะประพฤติบำเพ็ญตนให้เป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ที่เราจะตั้งใจปฏิบัติโดยเจตนา คือ ศีล...เรามาฝึกสมาธินี้เพื่ออบรมจิตของเราให้มีพลังงาน มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญา เพื่อให้จิตของเรานี้เป็นลูกศิษย์ของ พระพุทธเจ้าโดยอัตโนมัติ เมื่อจิตมีสภาวะ รู้ ตื่น เบิกบาน ก็ได้ชื่อว่า จิตมีคุณธรรมความเป็นพุทธะ
( พระราชสังวรญาณ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย )
ที่มา : หนังสืออภิมหามงคลธรรม หน้า ๑๘๙
ความคิดเห็น