ดับทุกข์ หมดโศก ยึดหลักอริยสัจ 4 เทศนา โดย พระอาจารย์ ว.วชิรเมธี

เวลาเกิดทุกข์ มนุษย์โดยมากมักมองออกไปนอกตัวแต่ทางพระพุทธศาสนาสอนให้มองเข้ามาในตัว ถ้าเรามองออกไปนอกตัวเรา เราจะเป็นนักโยนปัญหาหรือปัดความรับผิดชอบ แต่ถ้าเรามองเข้ามาในตัวเรา เราจะเป็นนักแก้ปัญหา ใครก็ตามที่เวลาเกิดปัญหาแล้วปัดความรับผิดชอบ เขาจะไม่รู้จักโต แต่ใครก็ตามที่เวลาเกิดปัญหาแล้วพยายามที่จะหาวิธีแก้ไข จะเติบโตจากการแก้ปัญหาทุกครั้งไป ดูได้จากพระประธานทุกองค์จะมีสายพระเนตรที่เหลือบมองต่ำเสมอ สะท้อนว่าก่อนที่จะมองสูงให้มองต่ำก่อน ก่อนที่จะมองคนอื่นให้มองตนเองก่อน ก่อนจะมองภายนอกให้มองภายในก่อน นี่เป็นสัญลักษณ์ ที่เราจะต้องรู้จักถอดรหัส ถ้าถอดรหัสเป็นจะรู้ว่าปัญหามีไว้เพื่อแก้ไข

วิธีคิดที่บอกเราว่า ใดๆในโลกล้วนมีที่มา ไม่มีปรากฎการณ์ใดๆที่เกิดขึ้นโดยไม่มีที่มา วิธีคิดอย่างนี้ คือ คิดแบบอริยสัจ 4 เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ให้ถามว่า

· นี้คืออะไร

· เกิดขึ้นมาจากอะไร

· ที่ถูกควรเป็นอย่างไร

· จะทำให้เป็นเช่นนั้นได้อย่างไร

ประการแรกของอริยสัจ 4 คือ

1. ทุกข์ มี 2 ความหมาย ได้แก่

· ทุกข์ทางกาย คือ ร่างกายของเราจะต้องแก่ เจ็บ และตาย เป็นทุกข์ที่มนุษย์ทุกคนจะต้องพบต้องเจอ แต่ทุกข์ทางกายจะไม่หนักหนา ถ้าเราไม่เติมทุกข์ทางใจเข้าไปด้วย เมื่อไม่มองว่าเป็นธรรมดาโลก เริ่มแก่จึงวิ่งหนีความแก่ เกิดทุกข์เพราะไม่ยอมรับความแก่ มนุษย์ที่ป่วยทางกายแล้วไม่รู้เท่าทันความป่วยเกิดโรคอุปาทานทำให้ป่วยทางใจซ้ำเข้าไปอีกเพราะไม่รู้เท่าทันความจริงของธรรมชาติที่จะต้องทุกข์เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย

· ทุกข์ที่สาหัสที่สุด คือ ทุกข์ทางใจ ตรงที่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าเราไม่มีความยึดติดในตัวฉัน ของฉัน รู้เท่าทันว่า ตัวฉันของฉันไม่เคยมี มีแต่ความจริงที่เรียกว่า ธาตุ 4 ขันธ์ 5 มาประชุมกันแล้วแตกดับไปตามวัฎจักรของคน เมื่อรู้อย่างนี้แล้วเราจะปล่อย จะวาง ความทุกข์ก็จะไม่เกิด

2. ความทุกข์ในชีวิตของคนเรามีสาเหตุที่มาเสมอ สมุทัย สาเหตุโดยทั่วๆไปเกิดจากตัณหา (ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น เกิดขึ้นเพราะ อวิชา คือ ความไม่รู้ตามความเป็นจริง) ความทุกข์กับตัณหาเป็นสิ่งที่เกิดตามกันมา นั่นคือ ตัณหามากทุกข์มาก ตัณหาน้อยทุกข์น้อย หมดอยาก หมดทุกข์ มนุษย์จำนวนมากมีทุกข์เพราะถูกตัณหาชักพาไป คนบางคนมีเงินร้อยล้านแต่ยังไม่มีความสุข เพราะทะเลแห่งตัณหาของเขายังพร่องอยู่เสมอ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ความต้องการ หรือตัณหาของมนุษย์ไร้ขีดจำกัด ถ้าไม่รู้ความจริงข้อนี้จะดำเนินชีวิตด้วยการวิ่งตามตัณหาของตนเองทั้งชีวิต หากรู้ความจริงว่าความอยากเหมือนน้ำในทะเล คือ เติมไม่เต็ม เราต้องบอกตัวเองว่าเราจะต้องรู้จักดำเนินชีวิตอย่างรู้จักพอ รู้จักพอเมื่อไรก็กลายเป็นมหาเศรษฐีขึ้นมาเมื่อนั้น ความทุกข์ในหัวใจจะมอดดับลงไป ทันทีที่เราสามารถบริหารความอยากให้น้อยลงได้ ถ้าความอยากหมดไปได้ ในหัวใจก็จะเต็มไปด้วยความสุขล้วนๆ

3. นิโรธ คือ ภาวะที่ปราศจากทุกข์ วิวัฒนาการสูงสุดทางปัญญาของมนุษยชาติ คือ อิสระจากความทุกข์ มนุษย์จำนวนมากเข้าใจผิดว่า เป้าหมายของการเกิดมา คือ กิน กาม เกียรติ แล้วมนุษย์ทางโลกก็วิ่งวุ่นอยู่ใน 3 เรื่องนี้

· กิน คือ หาของอร่อยมาให้ตนเองกิน

· กาม หมายถึง กามอารมณ์ คือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับกามอารมณ์ทั้งหลาย สิ่งสวยๆงามๆ ที่มนุษย์รักใคร่ผ่านทางตา ที่ชอบรูปสวยๆ หูชอบเสียงเพราะๆ จมูกชอบกลิ่นหอมๆ ลิ้นชอบรสอร่อย กายชอบสัมผัสที่นุ่มนวล พวกที่ติดในกาม คือ พวกที่เป็นทาสของทุนนิยม วัตถุนิยม

· มนุษย์บางคนไม่ได้ทุกข์เพราะกิน ไม่ได้ทุกข์เพราะกาม แต่มาทุกข์เพราะ เกียรติ อยากมีสถานภาพทางสังคมที่โดดเด่น อยากดัง เมื่อเป็นคนเด่นแล้วต้องรักษาความเด่น ถ้าไม่ได้เท่าเดิมก็ทุกข์ เป็นคนดังแล้วไม่ดังกว่าคนอื่นก็ทุกข์ ถ้าดังกว่าคนอื่นแล้วไม่ดังตลอดกาลก็ทุกข์อีก

เมื่อตกเป็นทาสของกิน กาม เกียรติ จะเป็นคนที่น่าสงสารที่สุดเพราะตกเป็นทาสของความทุกข์ ใครก็ตามที่ตกเป็นทาสของกิน กาม เกียรติ ไม่มีทางที่จะสลัดพ้นความทุกข์ได้

4. มรรค คือ วิธีในการที่จะให้ชีวิตนี้ไม่มีความทุกข์ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่

· สัมมาทิฐิ คือ เห็นชอบ

· สัมมาสังกัปปะ คือ ดำริชอบ

· สัมมาวาจา คือ เจรจาชอบ

· สัมมากัมมันตะ คือ ทำการงานชอบ

· สัมมาอาชีวะ คือ เลี้ยงชีพชอบ

· สัมมาวายามะ คือ เพียรชอบ

· สัมมาสติ คือ ระลึกชอบ

· สัมมาสมาธิ คือ ตั้งใจชอบ

ชีวิตที่ปราศจากความทุกข์ คือ ชีวิตที่เริ่มด้วย สัมมาทิฐิ การมีระบบความคิดที่ถูกต้อง คือ เราคิดอย่างไร เชื่ออย่างไร เราก็จะดำเนินชีวิตอย่างนั้น “จำง่ายๆว่า เธอจงระวังความคิด เพราะความคิดจะกลายเป็นการกระทำ เธอจงระวังการกระทำ เพราะการกระทำจะกลายเป็นนิสัย เธอจงระวังนิสัย เพราะนิสัยจะกลายเป็นบุคลิก เธอจงระวังบุคลิก เพราะบุคลิกจะกำหนดชะตากรรม ชะตากรรมของปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง เริ่มต้นที่ความคิด ถ้าคุณคิดดี พฤติกรรมดี ชีวิตคุณก็ดี ถ้าคุณคิดผิด พฤติกรรมของคุณก็ผิด ชีวิตของคุณก็ผิดไปทั้งชีวิต ฉะนั้นอริยมรรค มีองค์ 8 ประการ จึงเริ่มต้นที่ระบบความคิด ความเชื่อที่ถูกต้อง ถ้าเรามีความคิดความเชื่อที่ถูกต้องแล้ว ชีวิตของเราจะเป็นชีวิตที่เดินทางอยู่บนความถูกต้อง”

สรุป ทุกข์ คือ ต้องกำหนดให้ชัดว่าทุกข์จากอะไร นิโรธ คือ ต้องละไม่ให้กอดเอาไว้ สมุทัย คือ สิ่งที่ต้องบรรลุไปให้ถึง ไปให้ได้ และมรรค คือ สิ่งที่ต้องปฏิบัติ เมื่อรู้หนทางแห่งความสุขกันแล้ว ตอนนี้คงขึ้นอยู่ที่ว่าใครจะเลือกทางเดินทางใด

ความคิดเห็น